ก่อนหน้านี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เต็มไปด้วยนักเก็งกำไร และบางครั้งก็มักจะลากราคาหุ้นขึ้นไปจนผิดจากสถานการณ์ปกติมาก โดยใช้เครื่องมือคือบัญชีมาร์จิ้น (กู้ยืมเงินในการซื้อหุ้น) เมื่อราคาหุ้นปรับขึ้นไปสูงจนนักลงทุนรายย่อยพากันเข้าไปซื้อหุ้นตาม นักเก็งกำไรก็จะขายหุ้นออกมาจนราคาหุ้นปรับตัวลงอย่างรุนแรง และเกิดความเสียหายในวงกว้าง
ตลาดหลักทรัพย์ฯ เลยต้องมีมาตรการป้องกันความเสี่ยงให้กับนักลงทุนรายย่อย ด้วยการบังคับให้หุ้นที่มีการเคลื่อนไหวผิดปกติจะต้องใช้ "บัญชีเติมเงิน (Cash Balance)" ในการซื้อขายหุ้นเท่านั้น หรือก็คือต้องนำเงินสดใส่เข้าไปในพอร์ตหุ้นถึงจะซื้อได้ เมื่อนักเก็งกำไรไม่สามารถกู้เงินมาใช้ลงทุนได้แล้ว ผลของมันก็คือความร้อนแรงของราคาหุ้นและปริมาณซื้อขายจะลดลงนั่นเอง
หุ้นที่เข้าข่ายมาตรการนี้จะถูกเรียกว่า "หลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขาย"
ดังนั้นจริงๆแล้ว Cash Balance จึงเป็นเพียงชื่อของหนึ่งในมาตรการเท่านั้น
ปัจจัยที่ทำให้หุ้นเข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายจะต้องมีลักษณะแบบนี้
1. อัตราหมุนเวียนการซื้อขาย (Turnover ratio) มากกว่าเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯกำหนด
2. มูลค่าซื้อขายมากกว่าเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯกำหนด
3. บางครั้งอาจใช้อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E Ratio) มาเป็นเงื่อนไขด้วย หากราคาซื้อขายไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน
ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้เปิดเผยเงื่อนไขชัดเจนว่าต้องมี Turnover ratio และมูลค่าซื้อขายเท่าไหร่จึงจะเข้าข่ายมาตรการกำกับซื้อขาย
ขณะที่โบรกเกอร์แต่ละรายแม้จะสามารถคาดการณ์ได้ แต่ก็จะใช้เกณฑ์ในการคำนวณไม่เหมือนกันอยู่ดี
หุ้นที่เข้าข่ายจะถูกกำกับด้วยมาตรการทั้งหมด 3 ระดับด้วยกัน
ระดับ 1 : Cash Balance เมื่อหุ้นติดแล้วจะมีเครื่องหมาย T1 ต่อท้ายชื่อหุ้น นักลงทุนจะต้องซื้อหุ้นตัวนั้นด้วยบัญชีที่ใส่เงินสดเข้าไป (Cash Balance) เท่านั้น
สาเหตุที่นิยมเรียกหุ้นที่โดนมาตรการกำกับว่าติดCash Balance ก็เพราะหุ้นส่วนใหญ่มักจะพ้นจากมาตรการนี้กันตั้งแต่ระดับที่ 1 นั่นเอง
ระดับ 2 : ห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย และ Cash Balance เครื่องหมาย T2 ต่อท้ายชื่อหุ้น จะใช้ต่อเมื่อมาตรการระดับ 1 ไม่ได้ผล และมีข้อบังคับเพิ่มเติมนอกจากการใช้เงินสดซื้อหุ้นแล้ว ห้ามโบรกเกอร์ใช้หุ้นตัวนี้เป็นหลักประกันในการคำนวณวงเงินซื้อขายหลักทรัพย์ในทุกประเภทบัญชีด้วย
ระดับ 3 : ห้าม Net settlement, ห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย และ Cash Balance เมื่อมาถึงระดับนี้จะมี T3 ต่อท้ายชื่อหุ้น สิ่งที่แตกต่างจาก 2 ระดับด้านบนก็คือ ห้ามโบรกเกอร์หักลบราคาค่าซื้อกับราคาค่าขาย หลักทรัพย์เดียวกันในวันเดียวกัน (Net Settlement) ความหมายก็คือเมื่อเราซื้อและขายหุ้นตัวนี้ในวันเดียวกันจะไม่ได้รับวงเงินคืนมา ต้องรอวันทำการอื่น ทำให้เข้าไปซื้อขายหุ้นหลายๆรอบในวันเดียวไม่ได้ยกเว้นว่าจะมีเงินมหาศาลมากๆ
วัตถุประสงค์ของ Cash Balance ก็คือลดความเสี่ยงให้กับนักลงทุน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหุ้นที่ติด Cash Balance จะต้องเป็นหุ้นไม่ดีเสมอไปนะ เพราะบางทีแนวโน้มธุรกิจของหุ้นตัวนั้นอาจจะดีขึ้นกว่าเดิมมากๆ จนทำให้คนรีบเข้าไปซื้อหุ้นกัน ก็ส่งผลให้หุ้นตัวนั้นติดมาตรการได้เหมือนกัน
ขอขอบคุณที่มา: https://www.efinancethai.com/advertorial/AdvertorialMain.aspx?name=ad_202102191343