แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ดอกเบี้ยขาขึ้น แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ดอกเบี้ยขาขึ้น แสดงบทความทั้งหมด

วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2565

ดอกเบี้ยขาขึ้นส่งผลกระทบธุรกิจใดบ้าง

เงินเฟ้อไทยที่เร่งตัวต่อเนื่องทำให้ ธปท. จำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวมากขึ้น แต่ด้วยเศรษฐกิจไทยที่ยังคงเปราะบาง การดำเนินนโยบายจึงมีความท้าทายอย่างมาก ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ให้น้ำหนักต่อการรักษาเสถียรภาพด้านราคาเป็นสำคัญ การดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไปจึงมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น

แต่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในภาวะที่เศรษฐกิจยังคงอ่อนแออาจยิ่งซ้ำเติมให้เกิดความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แม้การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือนแต่รายได้กลับลดลงรุนแรงกว่า จึงคาดว่า ธปท. จะใช้แนวทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมีเป้าหมายเพื่อลดเงินเฟ้อคาดการณ์เป็นหลัก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเพิ่งเริ่มฟื้นจากวิกฤตโควิด-19 และยังไม่กลับไปสู่ระดับก่อนเกิดการระบาด

ภาวะตลาดแรงงานยังคงอ่อนแอและภาระหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง การใช้นโยบายการเงินตึงตัวเพื่อควบคุมเงินเฟ้อในภาวะเช่นนี้ อาจสร้างคำถามถึงความพร้อมและความ เหมาะสมของนโยบายที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างมาก 

ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อจะไม่คงอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลานาน การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะเงินเฟ้อฝังลึก (Wage-price spiral) ที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงจนยากต่อการควบคุม

ศูนย์วิจัยอีไอซี (EIC หรือ Economic Intelligence Center) ของ ธนาคารไทยพาณิชย์  จึงคาดว่า กนง. จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในช่วงครึ่งหลังของปีนี้เพื่อเป็นการส่งสัญญาณควบคุมเงินเฟ้อ

การขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปและต่อเนื่อง (ขึ้น 2 ครั้งในปี 2022 และอีก 2 ครั้งในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 คราวละ 0.25% หรือเฉลี่ยไตรมาส ละ 1 ครั้ง) สามารถลดเงินเฟ้อคาดการณ์ได้ดีที่สุด โดยไม่สร้างแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมากจนเกินไป ดังนั้น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในปีนี้จึงเพียงพอและเหมาะสมในการส่งสัญญาณควบคุมเงินเฟ้อคาดการณ์ ท่ามกลางความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับสูง


ผลกระทบโดยตรงผ่านการขึ้นดอกเบี้ย

  • การลงทุน ผู้ประกอบการมีแนวโน้มลงทุนน้อยลง ตามต้นทุนกู้ยืมที่สูงขึ้น และโอกาสการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น
  • การบริโภค ภาระหนี้และค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยสูงขึ้นทำให้บริโภคได้น้อยลง ผู้บริโภคบางส่วนหันไปออมเงินมากขึ้นและเลื่อนการบริโภคออกไป ราคาตราสารหนี้และตราสารทุนที่มีแนวโน้มลดลงยังทำให้ความมั่งคั่ง ของประชาชนลดลง wealth effect) จึงบริโภคลดลง

อัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้น

  • ราคาสินค้านำเข้า ราคาสินค้านำเข้าโดยเฉพาะกลุ่มพลังงานปรับลดลง ช่วยทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศลดลงตาม
  • การส่งออก เงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้ผู้ส่งออกไทยเสียเปรียบในการแข่งขันด้านราคา  จึงทำให้แนวโน้มส่งออกชะลอลง 


คาดการณ์เงินเฟ้อในระยะต่อไป 

ดอกเบี้ยสูงขึ้นทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง ประชาชนจึงปรับคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะต่อไปลง

การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจแตกต่างกัน

กำไรของภาคการผลิตและภาคบริการมีแนวโน้มลดลงรุนแรงกว่าภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน สาเหตุหลักมาจากรายได้ที่ลดลงกดดันรายจ่ายภาคเอกชน โดยเฉพาะในหมวดสินค้าคงทน ซึ่งทุกอุตสาหกรรม (ยกเว้นการบริหารราชการ) คาดว่า จะได้รับผลเชิงลบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบรุนแรงสูงสุด  ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจประกันภัย  ธุรกิจการค้า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และธุรกิจการจัดการน้ำ

ธุรกิจที่มีภาระดอกเบี้ยสูง เช่น ธุรกิจที่พักแรม ธุรกิจบันเทิงและนันทนาการ และธุรกิจการศึกษา ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงมาก

หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงขึ้น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะเพิ่มภาระหนี้ธุรกิจและลดความสามารถในการชำระหนี้ จากข้อมูลของกรมธุรกิจการค้า EIC ประเมินความเสี่ยงต่อภาระหนี้ของภาคธุรกิจโดยใช้ความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย ภาระดอกเบี้ยต่อทรัพย์สิน และสัดส่วนหนี้ต่อสินทรัพย์จากข้อมูลทางการเงินรายบริษัทในปี 2020 พบว่า ธุรกิจที่พักแรม ธุรกิจบันเทิงและนันทนาการ ธุรกิจการศึกษา ถือเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่อภาระหนี้สูงที่สุด  

ธุรกิจบันเทิงและนันทนาการ เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายรุนแรงที่สุด ทั้งจากความเสี่ยงต่อภาระหนี้สูงและความสามารถในการทำกำไรที่ลดลง

แม้การดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวช่วยลดแรงกดดันด้านราคาได้ แต่ก็ส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจปรับชะลอลงเช่นกัน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังไม่แข็งแกร่งนัก การขึ้นดอกเบี้ยจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยง (Downside risks) ส่งผลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวในระยะต่อไป และหากการดำเนินนโยบายตึงตัวเร็วเกินไป ยิ่งอาจทำให้เศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) มากขึ้น ผู้ดำเนินนโยบายจึงจำเป็นต้องเปรียบเทียบผลกระทบจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอย่างถี่ถ้วน และชั่งน้ำหนักว่าจะให้ความสำคัญต่ออัตราเงินเฟ้อ (เสถียรภาพด้านราคา) หรืออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (เสถียรภาพเศรษฐกิจ) มากกว่ากัน

บทความที่น่าสนใจ