ปัจจัยท้าทายของธุรกิจขนส่ง logistics ได้แก่
(1) การเพิ่มขึ้นของต้นทุนขนส่ง เช่น ราคาน้ำมัน ค่าจ้างแรงงาน การจราจรที่แออัด และการจอดรอคิวนานเพื่อชั่งน้ำหนัก/ผ่านด่าน
(2) ค่าใช้จ่ายการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานขนส่ง เช่น รถไฟฟ้า รถบรรทุกไร้คนขับที่ใช้ระบบควบคุมการขับขี่จากระยะไกล (Remote Control Technology: RCT) และ Robotic Process Automation ที่ปฏิบัติงานได้ต่อเนื่องมากกว่า 24 ชั่วโมง และการมุ่งสู่การขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
(3) การขนส่งสินค้าทางราง (ต้นทุนการขนส่งถูกกว่าทางถนนประมาณ 2 เท่า) กำลังทวีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟจีน-สปป.ลาว ใช้เวลาขนส่งสินค้าจากไทยไปจีนเพียง 10 ชั่วโมงจากเดิมใช้เวลา 2 วันทางรถ
(4) การเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่โดยเฉพาะต่างชาติที่มีความพร้อมทั้งเงินทุน เทคโนโลยีและพันธมิตร จะเพิ่มแรงกดดันมากขึ้นแก่ผู้ประกอบการรายเล็กและรายที่ไม่มีเครือข่าย และ
(5) ความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎระเบียบของทางการ อาจเพิ่มภาระต้นทุนแก่ผู้ประกอบการที่หลีกเลี่ยงกฏหมาย อาทิ การบรรทุกน้ำหนักเกินและการใช้พนักงานขับรถเกินเวลาที่กำหนด ปัจจัยข้างต้นอาจกดดันกำไรของธุรกิจและส่วนแบ่งตลาดโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็ก เนื่องจากส่วนใหญ่มีข้อจำกัดด้านเงินทุน ขอบเขตการให้บริการ ระบบบริหารจัดการเทคโนโลยี และเครือข่ายพันธมิตร จึงแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ยาก